ทฤษฎีพันธุศาสตร์ของเมนเดล theory of gregor mendel

คลังติวเตอร์ ศูนย์รวมติวเตอร์ ครูสอนพิเศษ klangtutor คลังติวเตอร์ เรารวบรวมติวเตอร์และครูสอนพิเศษ จากหลายสถาบันชั้นนำ รองรับการเรียนแบบตัวต่อตัว ติวเป็นกลุ่ม โดยสามารถปรับสไตล์การสอน เวลา และสถานที่ ได้ตามความต้องการ

เกรเกอร์ โยฮัน เมนเดล (Gregor Johann Mendel) คือ นักบวชชาวออสเตรีย

ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1800 เมนเดลเป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักพฤกษศาสตร์และอาจารย์ เมนเดลได้นำเสนองานวิจัยและตีพิมพ์ในปีถัดมาแต่ผลงานของเค้าเริ่มได้รับการยอมรับในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ หลังจากที่เมนเดลเสียชีวิตแล้ว หลักการต่างๆที่เมนเดลค้นพบนับเป็นพื้นฐานในการอธิบายการถ่ายทอดลักษณะพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่มีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศทั้งพืชและสัตว์ เมนเดลจึงได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งพันธุศาสตร์

เมนเดลศึกษากระบวนการถ่ายทอดลักษณะโดยทดลองผสมถั่วลันเตา (Pisum sativum)

ถั่วลันเตามีลักษณะที่เหมาะต่อการทดลองของเมนเดล อันได้แก่

1.เป็นพืชฤดูเดียวและมีอายุสั้น

2.ปลูกง่าย เจริญเติบโตเร็วและให้ลูกหลานจำนวนมาก

3.มีหลากหลายลักษณะและแต่ละลักษณะแตกต่างกันอย่างชัดเจน

4.เป็นดอกสมบูรณ์เพศผสมในดอกเดียวกันได้ลูกที่เป็นพันธุ์แท้

5.มีกลีบดอกปิดกลุ่มเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมีย ป้องกันไม่ให้เรณูจากดอกอื่นเข้าผสมกับเซลล์ไข่จึงควบคุมการผสมข้ามดอก (cross pollination) ได้ง่าย

ถั่วลันเตาแต่ละชนิดมีลักษณะทางพันธุกรรมที่แตกต่างกันชัดเจน

ตัวอย่างเช่น ลักษณะของเมล็ด สีของกลีบเลี้ยง ความสูงของลำต้น รูปร่างของเมล็ด ตำแหน่งของดอก สีของดอก เป็นต้น สามารถดูภาพประกอบดังตาราง

ในการศึกษาขั้นต้นเมนเดลทำการทดลองผสมถั่วลันเตาโดยพิจารณาลักษณะทีละลักษณะเรียกว่าการผสมลักษณะเดียว (monohybrid cross) โดยการผสมพันธุ์ของพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่เป็นพันธุ์แท้ (Pure Line – Parental Generation: P) ที่มีลักษณะแตกต่างกันอย่างชัดเจน เพื่อสร้างลูกผสมที่ถูกเรียกว่า “ลูกผสมช่วงที่ 1” (First Filial Generation: F1) โดยเมนเดลนำไปปลูกลงดิน เพื่อรอดูผลและลักษณะที่เกิดขึ้น

สามารถศึกษาการผสมพันธุ์ของถั่วลันเตาแบบ monohybrid cross ได้ตามภาพ

สรุปผลการทดลองผสมถั่วลันเตาแบบ monohybrid cross

– รุ่น F1 แสดงเฉพาะลักษณะของพ่อหรือแม่เพียงลักษณะเดียวซึ่งลักษณะที่แสดงเป็นลักษณะเด่น (dominant trait)

-รุ่น F2 จะแสดงทั้งสองลักษณะของรุ่นพ่อและแม่ในอัตราส่วน ลักษณะเด่น:ลักษณะด้อย = 3:1 โดยประมาณ

กฎการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม หรือที่เรียกว่า “กฎของเมนเดล” ประกอบด้วย

กฎข้อที่ 1 กฎแห่งการแยกตัว (Law of Segregation) อธิบายถึงลักษณะของสิ่งมีชีวิตที่จะถูกควบคุมโดยยีนที่ซึ่งจะปรากฏเป็นคู่เสมอในการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ ก่อนจะแบ่งแยกคู่ออกจากกัน เมื่อเข้าสู่เซลล์สืบพันธุ์ เพื่อเกิดการแบ่งเซลล์แบบไมโอซิส (Meiosis) ที่ทำให้จำนวนโครโมโซม (Chromosome) ลดลงครึ่งหนึ่งระหว่างเซลล์

กฎข้อที่ 2 กฎแห่งการรวมกลุ่มอย่างอิสระ (Law of Independent Assortment) อธิบายถึงการรวมกลุ่มของหน่วยพันธุกรรมของลักษณะต่างๆในเซลล์สืบพันธุ์ หรือการที่ยีนแยกออกจากคู่ของตนสามารถจัดกลุ่มได้อย่างอิสระกับยีนควบคุมลักษณะอื่นๆซึ่งส่งผลให้ผลผลิตมีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากยิ่งขึ้น

หลักการทั้งสองนี้ทำให้อธิบายได้ว่า ลักษณะต่างๆ จะถูกถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่งได้อย่างไร แล้วทำไมบางลักษณะจึงสามารถหายไปในบางรุ่นและกลับมาปรากฏได้อีกในรุ่นถัดไป

SHARE TO